องค์การบริหารส่วนตำบลลำไทรโยง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ :www.lamsaiyong.go.th

 
 

 

 


วันสิ่งแวดล้อมโลก 2568 “ช่วยกันยุติมลพิษจากพลาสติก”


วันสิ่งแวดล้อมโลก 2568
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นองค์กรระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2517 (ค.ศ.1973) ภายใต้การรณรงค์ในหัวข้อ “เพราะโลกมีเพียงใบเดียว” (Only One Earth) ซึ่งเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องโลกของเราให้มีอนาคตที่ดี

นับเป็นเวลา 52 ปีแล้วที่ UNEP ได้รณรงค์และสร้างความตระหนักให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยในปี 2568 นี้ UNEP ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ในหัวข้อ “ยุติมลพิษจากพลาสติก” (Ending Plastic Pollution)

ผลกระทบร้ายแรงของมลภาวะพลาสติก
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงผลกระทบร้ายแรงของมลภาวะจากพลาสติกซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทั่วโลกตั้งแต่ทุ่งทุนดราแอนตาร์กติกาไปจนถึงแนวปะการังเขตร้อน หรือแม้แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์และส่วนที่ลึกที่สุดของร่องลึกมาเรียนา ผลกระทบเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เช่น พลาสติกที่ยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายร้อยปีหรืออาจถึงหลายพันปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หมายความว่าพลาสติกที่สะสมอยู่ในปัจจุบันจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องในระบบนิเวศต่างๆ ไปอีกหลายชั่วอายุคน

ภัยจากไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก
เมื่อเศษพลาสติกขนาดใหญ่สลายตัว ก็จะสร้างไมโครพลาสติก (อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) และนาโนพลาสติก (อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร) ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่เซลล์และเนื้อเยื่อได้ง่ายขึ้นหากมีการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร เช่น

  • ไมโครพลาสติกที่สิ่งมีชีวิตในทะเลขนาดเล็กกินเข้าไปสามารถเคลื่อนตัวขึ้นไปในห่วงโซ่อาหาร และสุดท้ายก็ไปถึงมนุษย์ที่บริโภคอาหารทะเล
  • ไมโครพลาสติกที่แทรกซึมเข้าไปในดินจากการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้อง จะเกิดการปนเปื้อนซึ่งส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ดังนี้  คุณสมบัติของดิน ดินจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ความสามารถในการระบายน้ำลดลง การกักเก็บน้ำเปลี่ยนไป ส่งผลให้รากพืชดูดน้ำและธาตุอาหารได้ยากขึ้น วงจรชีวเคมี กระบวนการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ที่พืชต้องการ เมื่อมีไมโครพลาสติกปนเปื้อน วงจรนี้จะทำงานผิดปกติจุลินทรีย์ในดิน แบคทีเรียและเชื้อราที่มีประโยชน์ในดินจะถูกรบกวน ทำให้ไม่สามารถช่วยพืชดูดซับธาตุอาหารหรือป้องกันโรคได้ดีเท่าเดิม
  • ไมโครพลาสติกอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือนซึ่งทำหน้าที่ดูแลสุขภาพดิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ และส่งผลต่อการทำงานของดิน เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยเคลื่อนไหวช้าลง กินอาหารลดลง เกิดการเจ็บป่วยทำให้ย่อยอาหาร (วัสดุอินทรีย์ในดิน) ได้ไม่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของดิน เช่น ทำให้ดินแข็งและแน่น น้ำขังบนผิวดิน และขาดธาตุอาหาร

พลาสติกกำลังปนเปื้อนโลกของเรา ทำลายระบบนิเวศ และก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงทั้งต่อสิ่งมีชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ เราต่างตระหนักดีว่าต้องเร่งแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกทั่วโลก ตั้งแต่ยอดเขาสูงสุดไปจนถึงมหาสมุทรลึกสุด

ร่วมใจปกป้องโลกด้วยมาตรฐานด้านความยั่งยืน
การแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนโดยสามารถนำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องไปใช้ เช่น มตช.9-2565 ข้อกำหนดการตรวจสอบย้อนกลับการรีไซเคิลพลาสติกและการประเมินความสอดคล้องและส่วนผสมรีไซเคิลเพื่อให้มีแนวทางการตรวจสอบย้อนกลับ และการควบคุมกระบวนการ คุณภาพ และปริมาณของพลาสติกรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก ลดต้นทุนเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาโลกร้อน  นอกจากนี้ ไอเอสโอยังให้มาตรฐานแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการช่วยลดมลพิษจากพลาสติกซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น

  • ISO 14009 Environmental management systems – Guidelines for incorporating material circulation in design and development ซึ่งให้แนวทางในการจัดทำเอกสาร ดำเนินการ บำรุงรักษา และปรับปรุงการหมุนเวียนวัสดุอย่างต่อเนื่องในการออกแบบและพัฒนาในลักษณะเป็นระบบโดยใช้กรอบระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
  • ISO 15270 Plastics – Guidelines for the recovery and recycling of plastics waste ซึ่งให้แนวทางในการฟื้นฟูและรีไซเคิลขยะพลาสติกโดยกำหนดทางเลือกที่แตกต่างกันออกไปในการฟื้นฟูขยะพลาสติกที่เกิดจากแหล่งก่อนการบริโภคและหลังการบริโภค รวมทั้งมีข้อกำหนดคุณภาพที่ควรพิจารณาในทุกขั้นตอนของกระบวนการฟื้นฟู และให้คำแนะนำทั่วไปสำหรับการรวมอยู่ในมาตรฐานวัสดุ มาตรฐานการทดสอบ และข้อกำหนดผลิตภัณฑ์
  • ISO 17088 Plastics – Organic recycling – Specifications for compostable plastics ซึ่งระบุขั้นตอนและข้อกำหนดสำหรับพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกซึ่งเหมาะสำหรับการฟื้นฟูผ่านการรีไซเคิลอินทรีย์

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2568  ที่มีการรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ยุติมลพิษจากพลาสติก” จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันดูแลโลกใบนี้ที่มีเพียงใบเดียวให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นหลังต่อไป

ที่มา : intelligence.masci.or.th

 





2025-06-27
2025-06-26
2025-06-13
2025-06-05
2025-05-30
2025-05-29
2025-05-28
2025-05-05
2025-04-10
2025-04-10